หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2552

การใช้ฟังก์ชั่น And และ Or

          เมื่อกล่าวถึงฟังก์ชั่น And และ ฟังก์ชั่น Or หลายคนอาจจะยังไม่ค่อยคุ้นสักเท่าไร และสงสัยว่าใช้ทำอะไรได้บ้าง ใช้เมื่อใด ซึ่งที่จริงแล้วฟังก์ชั่น And และฟังก์ชั่น Or มีประโยชน์มากมายสำหรับการหาค่าใด ๆ โดยมีเงื่อนไขหลายเงื่อนไข โดยเฉพาะใช้ร่วมกับฟังก์ชั่น If

          ฟังก์ชั่น And อยู่ในประเภทฟังก์ชั่น ตรรกะ ซึ่งมีพวกเดียวกันได้แก่ If, Or, Not, True, False ซึ่งฟังก์ชั่น And จะให้ผลลัพธ์เป็น True ถ้าทุกเงื่อนไขเป็นจริง และถ้าหากว่ามีเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่งในจำนวนทั้งหมดไม่เป็นจริง จะคืนค่าเป็น False

          ส่วนฟังก์ชั่น Or ถ้าเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่งเป็นจริงจะให้ผลลัพธ์เป็น True ถ้าไม่เป็นจริงทั้งหมดทุกเงื่อนไข จะให้ผลลัพธ์เป็น False

          ยกตัวอย่างเช่นมีโจทย์ว่า หาก A1 และ B1 และ C1 มากกว่า 10 ให้แสดงคำว่า Yes หากพบว่าเซลล์หนึ่งเซลล์ใดไม่มากกว่า 10 ให้แสดงคำว่า No สามารถนำฟังก์ชั่น And มาใช้ร่วมกับฟังก์ชั่น If ได้ดังนี้ ที่เซลล์ใด ๆ คีย์

=If(And(A1>10,B1>10,C1>10),"Yes","No")

Enter

          และหากต้องการว่า ถ้าหากเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่งเป็นจริงก็ให้แสดงคำว่า Yes ถ้าไม่เข้าเงื่อนไขทั้ง 3 เซลล์ให้แสดงคำว่า No ที่เซลล์ใด ๆ คีย์

=If(Or(A1>10,B1>10,C1>10),"Yes","No")

Enter

ทดลองเล่นโดยเพิ่ม, ลด, เปลี่ยนเงื่อนไข แล้วสังเกตดูผลครับ

วันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2552

สูตรที่แสดงค่าผิดพลาดเมื่อปิดไฟล์

กรณีที่เราทำงานกับไฟล์ซึ่งมีการเชื่อมโยงกับไฟล์อื่น หากปิดไฟล์ต้นแหล่งไปแล้ว ทำไมสูตรที่เราเขียนไว้เกิดค่าผิดพลาดขึ้น เช่นติด #Ref! หรือ #Value!

ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากว่าเป็นข้อจำกัดของ Excel ในบางฟังก์ชั่นที่ไม่สามารถใช้กับไฟล์ที่ปิดไปแล้วได้ครับ ฟังก์ชั่นดังกล่าวได้แก่

  1. Sumif
  2. Countif
  3. Offset
  4. Indirect

หากปิดไฟล์ต้นแหล่ง 3 ตัวแรกจะเกิดค่าผิดพลาดเป็น #Value! และ Indirect จะเกิดค่าผิดพลาดเป็น #Ref! ดังนั้นในการใช้สูตรเพื่อหาข้อมูลจากไฟล์อื่นจำเป็นต้องระวังในการใช้สูตร 4 ตัวนี้ข้ามไฟล์ครับ

การตัดข้อความออกเป็นหลายบรรทัด

Excel มีความสามารถประการสำคัญที่มักไม่ค่อยได้ใช้งาน อาจจะเป็นเพราะไม่รู้ว่า Excel สามารถทำได้ คือ การตัดข้อมูลที่กรอกมาในเซลล์เดียวหลาย ๆ อักขระ ออกเป็นหลายบรรทัด ซึ่งข้อมูลที่มีกรอกมาในเซลล์เดียวหลายอักขระนั้น ปกติแล้วจะเป็นการ Copy มาจากแหล่งอื่นเช่นจาก Webboard เป็นต้น

ใน 1 เซลล์ของ Excel 2003 แม้สามารถจะบรรจุอักขระได้ถึง 32,767 อักขระ แต่สามารถมองเห็นในเซลล์ได้แค่ 1,024 อักขระเท่านั้น ดังนั้น หากเรามีข้อความที่ยาวมาก จำเป็นจะต้องแบ่งไปในบรรทัดอื่น ๆ เพื่อให้สามารถอ่านได้ง่าย

การแบ่งข้อความนี้เองที่ Excel มีมาให้แต่เราไม่ค่อยได้ใช้ หรืออาจจะไม่ทราบมาก่อนว่าสามารถทำได้ ซึ่งสามารถอำนวยความสะดวกได้มาก

ยกตัวอย่างเช่น เรา Copy ข้อความในย่อหน้าที่ 2 ด้านบนไปวางในเซลล์ A1

สามารถที่จะแบ่งข้อความเป็นหลายบรรทัดเพื่อให้สามารถอ่านได้ง่ายขึ้นดังนี้

  1. คลุมข้อมูจาก A1:D1 เพื่อต้องการแบ่งข้อความจากเซลล์เดียวให้มีความยาว 4 คอลัมน์
  2. เข้าเมนู Edit > Filter
  3. เลือก Justify > OK

จากการกำหนดตามด้านบน Excel จะทำการแบ่งข้อความให้เราความยาวไม่เกิน 4 คอลัมน์ และจำนวนบรรทัดจะถูกจัดให้เหมาะสมกับข้อความ

วันพุธที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2552

การกรองให้เรียงลำดับโดยไม่คำนึงถึงเครื่องหมาย

สำหรับงานบัญชีที่ต้องมีการกระทบยอดเพื่อล้างบัญชีมักจะมีความยุ่งยากและเสียเวลาในการจับคู่ เนื่องจากจำนวนที่เป็นค่าบวกและค่าลบเมื่อกรองออกมาแล้วจะถูกจัดเรียงแยกต่างหากจากกัน

การกรองโดยปกติสามารถกรองค่าน้อยไปหามาก หรือค่ามากไปหาน้อย หรือแม้จะสามารถกรองตามเงื่อนไขได้ แต่ก็ไม่สามารถกรองโดยไม่คำนึงถึงเครื่องหมายบวกลบได้ ดังนั้นตัวเลขเท่ากันแต่เครื่องหมายต่างกัน จะไม่ถูกกรองมาอยู่ด้วยกัน

การกรองโดยไม่คำนึงเครื่องหมายจึงจำเป็นต้องใช้เทคนิค ซึ่งสามารถทำได้ทั้งการใช้สูตรและไม่ใช้สูตร

สมมุติข้อมูลอยู่ในช่วง A1:D1000 โดย A1:D1 คือชื่อ Field และ D2:D1000 คือค่าที่ต้องการกรองข้อมูล

A. การกรองโดยไม่คำนึงเครื่องหมายโดยการใช้สูตร

  1. เพิ่มคอลัมน์ E เพื่อเป็นคอลัมน์ช่วย ที่ E1 เขียนชื่อ Field
  2. ที่ E2 คีย์สูตร
    =Abs(D2)
    Enter แล้ว Copy ลงด้านล่าง สูตรนี้จะ Absolute ค่าในคอลัมน์ D หมายความว่าค่าใดที่เป็นบวกก็จะเป็นบวกเช่นเดิม ส่วนค่าที่เป็นลบจะกลายเป็นค่าบวก
  3. ทำการกรองข้อมูลใหม่ตามคอลัมน์ E

B. การกรองโดยไม่ใช้สูตร

  1. เพิ่มคอลัมน์ E เพื่อเป็นคอลัมน์ช่วย ที่ E1 เขียนชื่อ Field
  2. Copy D2:D1000 หากเดิมเป็นสูตร ก็จะวางแบบค่าที่ E2:E1000 ถ้าเดิมเป็นค่าที่ไม่ใช่สูตรก็วางแบบธรรดาที่ E2:E1000
  3. คลุมคอลัมน์ E แล้วเข้าเมนู Edit > Replace > ช่อง Find what: คีย์เครื่องหมาย - (ลบ) > ช่อง Replace with: ปล่อยว่าง > คลิกปุ่ม Replace all
    การทำเช่นนี้จะเป็นการลบเครื่องหมายลบที่อยู่หน้าตัวเลขออกไป จะทำให้ค่าที่เป็นลบกลายเป็นบวก สำหรับค่าใดที่เป็นบวกอยู่แล้วก็เป็นบวกเช่นเดิม
  4. ทำการกรองข้อมูลใหม่ตามคอลัมน์ E

เทคนิคการ Preview เฉพาะหน้าที่ต้องการ

กรณีที่มีงานจำนวนหลายหน้า และหากต้องการ Preview ดูก่อนที่จะ Print งาน โปรแกรม Excel จะเริ่ม Preview ให้ตั้งแต่หน้าแรกเสมอ

ในบางโอกาสเราต้องการดูหน้าอื่น ๆ ที่ไม่ใช่หน้าแรก หากกดปุ่ม Preview ก็จะต้องกดปุ่ม Next ไปเรื่อย ๆ จนถึงหน้าที่ต้องการ ยกตัวอย่างเช่นต้องการดูเฉพาะหน้า 50 ก็จะต้องการกด Next ไปเรื่อย ๆ จนถึงหน้า 50 เป็นต้น

เทคนิคในการ Previw เฉพาะหน้าที่ต้องการให้ทำดังนี้ครับ

  1. เข้าเมนู File
  2. เลือก Print แทนการเลือก Preview
  3. กรอกหน้าที่ต้องการ Preview ในช่อง Page(s) From: หรือหากเลือกเป็นช่วงก็สามารถกรอกในช่อง To: ด้วย
  4. คลิกปุ่ม Preview

กรณีการกรอก From: และ To: ด้วย จะจำกัดให้เราสามารถดูเอกสารเฉพาะหน้าที่เลือกเท่านั้นครับ ส่วนหากเลือก From: ช่องเดียว จะเริ่ม Preview ให้เราตั้งแต่หน้าที่เราเลือกและยังสามารถคลิก Next เพื่อดูหน้าถัดไปได้อีก แต่ไม่สามารถคลิกย้อนกลับไปยังเลขหน้าซึ่งอยู่ลำดับก่อนเลขหน้าที่เราเลือกไว้

การใช้ Max, Min แทน If

ปกติเราใช้ฟังก์ชั่น If เมื่อทำงานกับข้อมูลตัวเลขที่ต้องการเลือกมาตามเงื่อนไขอย่างน้อยสองเงื่อนไข ยกตัวอย่างเช่น เงื่อนไขคือ

  1. ถ้า A1 มีค่าน้อยกว่า 0 ให้ B1 แสดงค่าเป็น 0
  2. ถ้า A1 ไม่น้อยกว่า 0 ให้ B1 แสดงค่าใน A1

ปกติเราสามารถเขียนสูตร If ที่ B1 ได้ดังนี้

=If(A1<0,0,a1)

กรณีเช่นนี้เราสามารถใช้ฟังก์ชั่น Max แทนฟังก์ชั่น If ได้เช่นกัน โดยสามารถเขียนเป็น

=Max(0,A1)

ความหมายของสูตรคือหาค่าที่มากกว่าระหว่างค่า 0 และค่าใน A1 ส่วนค่าที่น้อยกว่า 0 เราถือว่าเป็น 0 ตามเงื่อนไขของโจทย์

สมมุติโจทย์ใหม่ดังนี้

  1. ถ้า A1 มีค่ามากกว่า 10 ให้แสดงค่า 10
  2. ถ้า A1 ไม่มากกว่า 10 ให้แสดงค่าใน A1

เราสามารถเขียนสูตร If สำหรับโจทย์นี้ที่ B1 ได้ดังนี้

=If(A1>10,10,A1)

กรณีเช่นนี้เราสามารถใช้ฟังก์ชั่น Min แทนฟังก์ชั่น If ได้เช่นกัน โดยสามารถเขียนเป็น

=Min(10,A1)

ความหมายของสูตรคือหาค่าที่น้อยกว่าระหว่างค่า 10 และค่าใน A1 นั่นก็คือค่าที่มากกว่า 10 เราถือว่าเป็น 10 ตามเงื่อนไขของโจทย์

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่น SUM

  1. มี Short cut เมนูมาให้สามารถคลิกเลือกเพื่อ Sum ข้อมูลได้ ถ้าจะเลือกอย่างอื่นต้องคลิกSum Dropdown เพื่อเลือกอีกครั้ง
  2. เมื่อกด Alt+= ก็จะขึ้นฟังก์ชั่น Sum มาให้เลย
  3. ถ้าเราเลือกเซลล์ว่างใต้กลุ่มข้อมูลที่เป็นตัวเลขแล้วคลิกเครื่องหมาย Sum หรือทำตามข้อ 2 จะเป็นการ Sum ตัวเลขด้านบนมาให้
  4. ถ้าเราเลือกเซลล์ว่างด้านขวากลุ่มข้อมูลที่เป็นตัวเลขแล้วแล้วคลิกเครื่องหมาย Sum หรือทำตามข้อ 2 จะเป็นการ Sum ตัวเลขด้านซ้ายมาให้
  5. ถ้าคลุมกล่มข้อมูลที่ประกอบด้วยตัวเลขโปรแกรมจะ Sum ค่าทั้งหมดมาแสดงให้ที่บรรทัด Status bar (ด้านขวาล่างของจอ) ซึ่งเป็นค่าเริ่มต้น ตรงนี้สามารถเลือกเป็น Count, Average, Min, Max, Count Nums
  6. ถ้าเราคลุมกลุ่มตัวเลขโดยคลุมให้เลยไปทางด้านขวาและด้านล่างจากนั้นกดเครื่องหมาย Sum หรือทำตามข้อ 2 โปรแกรมจะทำการ Sum ข้อมูลมาให้ โดยแสดงผลในเซลล์ด้านล่างและเซลล์ด้านขวาแถวและบรรทัดสุดท้ายที่คลุม
  7. ฟังก์ชั่น Sum สามารถใช้ร่วมกับ Sumif หรือ Countif กรณีต้องการรวมหรือนับแบบหลายเงือนไขได้ เช่น

    =Sum(Sumif(A1:A100,{"<0",">0"}))

    โดยไม่ต้องกดแป้น Ctrl+Shift+Enter โดยความหมายสูตรคือให้รวมว่า A1:A100 มีค่าเท่าไร สูตรนี้พิเศษตรงที่สามารถรวมได้แม้ช่วงข้อมูล A1:A100 จะมีค่าผิดพลาดปรากฏอยู่ด้วย เข่น #N/A, DIV/0!
  8. ฟังก์ชั่น Sum สามารถใช้ในสูตร Array เพื่อนับข้อมูลที่เข้าเงื่อนไขได้ เช่น

    =Sum(If(A1:A100="Yes",If(B1:B100="OK",1)))

    กดแป้น Ctrl+Shift+Enter เนื่องจากเป็นสูตร Array

    ความหมายสูตรคือ ถ้าเซลล์ใดในช่วง A1:A100 มีค่าเท่ากับ Yes และเซลล์ใดในช่วง B1:B100 มีค่าเท่ากับ OK ให้นับเป็น 1 นั่นหมายความว่าต้องอยู่ในบรรทัดเดียวกันด้วย เช่น A10 มีค่าเป็น Yes และ B10 มีค่าเป็น OK ถึงจะนับเป็น 1 ถ้าไม่เช่นนั้นก็มีค่าเป็น False คือไม่เข้าเงื่อนไข จากนั้นรวมค่าที่เข้าเงื่อนไขทั้งหมด
  9. ฟังก์ชั่น Sum สามารถใช้ในสูตร Array เพื่อ Sum ข้อมูลที่เข้าเงื่อนไขได้ เช่น

    =Sum(If(A1:A100="Yes",If(B1:B100="OK",C1:C100)))

    กดแป้น Ctrl+Shift+Enter เนื่องจากเป็นสูตร Array

    ความหมายสูตรคือ ถ้าเซลล์ใดในช่วง A1:A100 มีค่าเท่ากับ Yes และเซลล์ใดในช่วง B1:B100 มีค่าเท่ากับ OK ให้นำข้อมูลในคอลัมน์ C ที่อยู่ในบรรทัดเดียวกันนั้นมาแสดง นั่นหมายความว่าต้องอยู่ในบรรทัดเดียวกันด้วย เช่น A10 มีค่าเป็น Yes และ B10 มีค่าเป็น OK ถึงจะนำค่า C10 มาแสดง ถ้าไม่เช่นนั้นก็มีค่าเป็น False คือไม่เข้าเงื่อนไข จากนั้นทำการรวมข้อมูลที่เข้าเงื่อนไขทั้งหมด
  10. ฟังก์ชั่น Sum สามารถมีได้ 30 ส่วนประกอบซึ่งแต่ละส่วนประกอบเป็นเซลล์เดี่ยวก็ได้ เป็นช่วงเซลล์ก็ได้ เช่น

    =Sum(A1:A5,2,B10,Max(C1:C200))
  11. ฟังก์ชั่น Sum สามารถแปลงค่าตัวเลขที่อยู่ในเครื่องหมายคำพูดให้เป็นตัวเลขได้ เช่น

    =Sum("10",15)

    ผลรวมจะได้เท่ากับ 25
  12. ฟังก์ชั่น Sum สามารถรวมค่าตรรกะได้ ได้แก่ True จะให้ผลเป็น 1 และ False จะให้ผลเป็น 0 เช่น

    =Sum(True,False,4,A1>3)

    ผลลัพธ์จะได้ 6 ถ้า A1 มากกว่า 3 หรือ ผลลัพธ์จะได้ 5 ถ้า A1 ไม่มากกว่า 3
  13. ฟังก์ชั่น Sum สามารถใช้แบบ 3 มิติได้ คือสามารถรวม Sheet หลาย ๆ Sheet ได้ เช่น

    =Sum(Sheet1:Sheet5!A1:A10)

    ความหมายคือเป็นการรวมค่าในช่วงเซลล์ A1:A10 ของ Sheet1 ถึง Sheet 5
สรุป ฟังก์ชั่น Sum สามารถประยุกต์ได้หลายรูปแบบหลายสถานการณ์แล้วแต่เงื่อนไขของการทำงาน ซึ่งที่ยกมาข้างต้นคิดว่าจะทำให้รู้จักฟังก์ชั่น Sum เพิ่มขึ้น นอกจากนี้สามารถประยุกต์ใช้ในการทำงานได้ตามต้องการครับ

การค้นหาทีเดียวทั้งไฟล์

การค้นหาข้อมูล ค่าตั้งต้นของโปรแกรม Excel สามารถค้นหาข้อมูลได้ใน Sheet ที่กำลังทำงานเท่านั้น

ซึ่งสามารถเข้าเมนูค้นหาได้โดย

  1. คลิกเมนู Edit > Find หรือกดแป้น Ctrl+F แล้วคีย์ค่าที่ต้องการค้นหาในช่อง Find what:
  2. คลิกปุ่ม Find จากนั้นหากต้องการหาค่าถัดไปให้คลิกปุ่ม Find Next

หากคลุมพื้นที่ก่อนเข้าเมนูค้นหาจะทำให้จำกัดพื้นที่ในการค้นหา ซึ่งจะทำให้เข้าถึงข้อมูลได้เร็วขึ้น

หากเราต้องการค้นหาข้อมูลทั้งไฟล์ต้องเลือกเพิ่ม โดยมีขั้นตอนดังนี้

  1. คลิกเมนู Edit > Find หรือกดแป้น Ctrl+F แล้วคีย์ค่าที่ต้องการค้นหาในช่อง Find what:
  2. คลิกปุ่ม Option > ที่ช่อง Within: เลือก Workbook
  3. คลิกปุ่ม Find จากนั้นหากต้องการหาค่าถัดไปให้คลิกปุ่ม Find Next

คีย์ 1 แล้วให้แสดงเป็น 1000

อีกหนึ่งความสามารถของ Excel ที่หลายท่านอยากใช้แต่ไม่รู้ว่าต้องไปกำหนดที่ตรงไหน คือต้องการคีย์แค่เลขเดียวแล้วก็ให้แสดงเลข 3 หลักออกมาให้เลย เช่น คีย์ 1 ลงในเซลล์ใด ๆ แต่ให้มีค่าเป็น 1000 หรือนั่นคือ คีย์แค่เลขเดียว แต่คูณด้วย 1000 ให้เลย และหากต้องการตัวเลขเป็น 1 จริง ๆ โดยไม่คูณ 1000 ก็สามารถทำได้ด้วย

อืม...นับเป็นความต้องการที่เอาใจยากจริง ๆ ครับ แต่ว่า Excel สามารถทำเช่นนั้นได้จริง ๆ เสียด้วย คือสามารถกำหนดให้คูณด้วยเท่าไรก็ได้ ไม่เฉพาะ 1000 โดยไม่ต้องเสียเวลาคีย์ 0 เข้าไปเอง และไม่ต้องมาคูณด้วยเองในภายหลัง หรือหากไม่ต้องการให้คูณก็สามารถทำได้อีกต่างหาก

วิธีการกำหนดทำดังนี้ครับ

  1. เข้าเมนู Tools เลือก Options
  2. เลือก Tab Edit แล้วทำเครื่องหมายที่ Fixed decimal
  3. ที่ Places คีย์ -3
  4. OK

การกำหนดเช่นนี้จะคูณด้วย 1000 ให้เลย และหากไม่ต้องการให้คูณด้วย 1000 เราคีย์จุดตามหลังเข้าไปด้วย เช่น

  • คีย์ 1 จะกลายเป็น 1000
  • คีย์ 1. จะกลายเป็น 1

ทดลองเล่นโดยคีย์ตัวเลขอื่น ๆ ตามต้องการดูครับ

การรวมยอดโดยไม่รวมบรรทัดที่ซ่อน

หลาย ๆ ท่านใช้การซ่อนบรรทัด (Hide) ไว้แทนการลบทิ้ง โดยเผื่อไว้ว่าโอกาสหน้าจะกลับมาใช้ จะได้ไม่ต้องคีย์เพิ่มเข้าไปใหม่ แต่หากมีการใช้สูตร Sum เพื่อรวมยอดตัวเลขไว้ ยอดผลรวมนั้นจะรวมบรรทัดที่ซ่อนด้วย

การรวมยอดเพื่อไม่ให้รวมบรรทัดที่ซ่อนไว้สามารถทำได้โดยใช้ฟังก์ชั่น Subtotal ครับ และนอกจากหายอดรวมแล้ว ยังหาค่าเฉลี่ย ค่าน้อยที่สุด ค่ามากที่สุด ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การนับเฉพาะตัวเลข การนับทั้งหมดยกเว้นค่าว่าง เป็นต้น

สมมุติข้อมูลอยู่ที่ B2:B50 จะขอยกตัวอย่างบางฟังก์ชั่นที่น่าใช้งานดังนี้ครับ

  1. หากต้องการรวมยอดที่ B2:B50 โดยไม่รวมบรรทัดที่ซ่อน ที่ B51 คีย์
    =Subtotal(109,B2:B50)
  2. หากต้องการนับเฉพาะตัวเลขที่ B2:B50 โดยไม่รวมบรรทัดที่ซ่อน ที่ B51 คีย์
    =Subtotal(102,B2:B50)
  3. หากต้องการนับทั้งหมดยกเว้นค่าว่างที่ B2:B50 โดยไม่รวมบรรทัดที่ซ่อน ที่ B51 คีย์
    =Subtotal(103,B2:B50)
  4. หากต้องการหาค่าที่มากที่สุดที่ B2:B50 โดยไม่รวมบรรทัดที่ซ่อน ที่ B51 คีย์
    =Subtotal(104,B2:B50)
  5. หากต้องการหาค่าที่น้อยที่สุดที่ B2:B50 โดยไม่รวมบรรทัดที่ซ่อน ที่ B51 คีย์
    =Subtotal(105,B2:B50)
  6. หากต้องการหาค่าเฉลี่ยที่ B2:B50 โดยไม่รวมบรรทัดที่ซ่อน ที่ B51 คีย์
    =Subtotal(101,B2:B50

ซ่อนสูตรและซ่อนค่าในเซลล์แบบ Advanced

บางสูตรอาจจำเป็นต้องปกปิดไม่ให้เห็นถึงการคำนวณก็สามารถซ่อนสูตรไว้ได้ครับ ซึ่งจะไม่สามารถมองเห็นสูตรได้ สามารถเห็นได้แค่เพียงผลลัพธ์ของสูตรในเซลล์เท่านั้น หรือจะซ่อนไม่ให้เห็นทั้งสูตรทั้งค่าในเซลล์ก็สามารถทำได้เช่นกัน ซึ่งเป็นซ่อนแบบ Very Hidden

A. การซ่อนสูตรสามารถทำได้ดังนี้

  1. คลุมพื้นที่ที่เป็นสูตร
  2. คลิกขวาแล้วเลือก Format Cells
  3. เลือกแถบ Protection แล้วทำเครื่องหมายตรง Hidden
  4. เข้าเมนู Tools เลือก Protection แล้วเลือก Protect Sheet จากนั้นกรอกหรือไม่กรอก Password แล้วแต่ความต้องการ แล้วคลิก OK

ผลของการทำตามข้างบนจะเป็นการซ่อนค่าในบรรทัด Formula bar ซึ่งเป็นการซ่อนสูตรไปในตัว แต่ยังสามารถเห็นค่าในเซลล์ได้

แต่ถ้าหากต้องการซ่อนแบบไม่ให้เห็นทั้งค่าในเซลล์และค่าบนบรรทัด Formula ให้ทำการซ่อนแบบ Very Hidden ตามด้านล่าง

B. การซ่อนแบบ Very Hidden

  1. คลุมข้อมูลที่ต้องการซ่อนค่า
  2. คลิกขวาแล้วเลือก Format Cells
  3. คลิกแถบ Number เลือก Custom
  4. ที่ช่อง Type: คีย์ ;;;
  5. ทำข้อ 3 และ 4 ในหัวข้อ A.

หากต้องการซ่อนแค่ค่าในเซลล์ แต่ให้มองเห็นค่าได้จาก Formula bar ก็ทำแค่ข้อ 1-4 ในหัวข้อ B. ครับ